
รู้หรือไม่…ภาคอีสานไม่มีภาษาอีสาน
ภาคอีสานไม่มีภาษาอีสาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน มีพื้นที่ครอบคลุมถึง 1 ใน 3 ของประเทศไทย และมีสิ่งที่หลายคนเข้าใจผิดเรื่อง ภาษาอีสาน จากข้อมูลเรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 พบว่า ภาคอีสานมีประชากรมากที่สุด เมื่อจำนวนคนยิ่งมากยิ่งโดดเด่นเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษาที่ใช้สื่อสารก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมก็มากขึ้นตามไปด้วย ‘ประเทศไทยไม่ได้มีแค่ภาษาไทยฉันใด ภาคอีสานก็ไม่ได้มีภาษาเดียวฉันนั้น’ แต่ทราบหรือไม่ว่าในจำนวนภาษาอันหลากหลายของภูมิภาคนี้ไม่มีภาษาที่เรียกว่า ‘อีสาน’ อย่างแท้จริง ขึ้นชื่อว่าภาคอีสานทำไมไม่มีภาษาอีสานล่ะ เกิดจากอะไรกันนะ?? วันนี้ เที่ยวไปทั่ว จะพามาดูความหลากหลายของภาษากันเลย

สาเหตุของความหลากหลายทางชาติพันธุ์อันเป็นต้นกำเนิดของภาษาอีสาน
ต้นกำเนิดของภาษา ภาษาเป็นสื่อที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารกัน ตั้งแต่สมัยก่อนคริสต์ศักราช มนุษย์เริ่มจากการเลียนเสียงสิ่งที่ได้ยินบริเวณแถบที่อยู่อาศัย เช่น เสียงของธรรมชาติ เสียงของสัตว์ เสียงสิ่งของ รวมไปถึงการกำหนดคำเรียกเองจนวิวัฒนาการมาเป็นภาษาในปัจจุบันเพื่อใช้ในการสื่อสาร ออกล่าสัตว์ หาอาหาร และดำรงชีวิตร่วมกันซึ่งจะมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามนุษย์สร้างภาษาจากถิ่นที่อยู่อาศัยของตนโดยเฉพาะเพื่อให้การดำรงเผ่าพันธุ์ง่ายมากขึ้น

เมื่อกล่าวถึงภาษาที่ใช้ในการสื่อสารประจำภูมิภาคอีสาน หลายคนคงเข้าใจว่าคือภาษาอีสาน แต่ยังไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีที่ชิ้นใดบ่งชี้หรือรับรองว่าภาษาอีสานมีอยู่จริงบนโลกใบนี้ นั่นก็เนื่องมาจากหลักฐานทางภูมิศาสตร์ระบุว่าภาคอีสานตั้งบนที่ราบสูงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทางตอนเหนือและตะวันออกมีแม่น้ำโขงเป็นเขตกั้นระหว่างไทย-ลาว ทางตอนใต้จรดชายแดนกัมพูชา ซึ่งในสมัยก่อนง่ายมากต่อการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภูมิภาคแห่งนี้ อีกทั้งในสมัยพุทธศตวรรษที่ 6 ชนชาติขอมก่อตัวเป็นรัฐและขยายอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้จนเคยถึงบางส่วนของภาคอีสานตอนใต้ จึงทำให้ภาคอีสานมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์อันเป็นเหตุผลของความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษาจำนวนมากในภูมิภาคนั่นเอง
ไม่มีภาษาอีสานบนโลกใบนี้
จากบทสัมภาษณ์ของอาจารย์ธีระพล อันมัย อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวข้อเรื่อง “ไม่มีภาษาอีสานบนโลกใบนี้” กล่าวว่า จังหวัดในภาคอีสานใช้ภาษาที่แตกต่างกันตามพื้นที่นอกจากภาษาไทยและภาษาลาวที่ใช้กันเป็นจำนวนมากแล้วนั้นก็จะมี เช่น จังหวัดเลย – ภาษาไทเลย ,จังหวัดชัยภูมิ – ภาษาลาวเวียงจันทร์, จังหวัดนครราชสีมา – ภาษาโคราช, จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ – ภาษาเขมร, จังหวัดศรีสะเกษ -ภาษาลาว ส่วย กูย เญอ ขึ้นไปทางมุกดาหารและกาฬสินธุ์ก็จะใช้ภาษาภูไท ภาษาญ้อ เป็นต้น ดังนั้น คำว่า ‘อีสาน’ เป็นคำที่ใช้เรียกแทนชื่อทางการของภาคตะวันออกเฉียงเหนือแต่มิใช่ภาษา
พื้นถิ่นมิใช่รากเหง้าของวัฒนธรรมภาษา ที่ดินที่อยู่เป็นเพียงสถานที่ คนต่างหากที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมภาษาและนำเข้ามาในสถานที่ แม้จะทำให้ง่ายต่อคนต่างถิ่นจึงใช้คำแทนทั้งหมดว่าภาษาอีสาน แต่อย่าลืมที่จะให้ความสำคัญรากเหง้าที่แท้จริงของวัฒนธรรมภาษาในพื้นที่นั้น ๆ ด้วยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : ขบวนการอีสานใหม่ New Isan Movement
https://www.facebook.com/watch/?v=3410980068920067