
“มารีอานน์” สตรีผู้เป็นตัวแทนแห่งเสรีภาพของฝรั่งเศสปรากฏบนตราสัญลักษณ์การแข่งขันโอลิมปิก Paris 2024
มารีอานน์ ใบหน้าของหญิงสาวที่ปรากฏบนสัญลักษณ์เจ้าภาพโอลิมปิกในการแข่งขันโอลิมปิก ปารีส 2024 ซึ่งรับไม้ต่อจากโตเกียว 2020 ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.2021 จากความประทับใจตลอดการแข่งขันแม้ในสถานการณ์ที่กำลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การจัดการแข่งขันโอลิมปิกที่โตเกียวก็ผ่านไปได้ด้วยดี จากนี้ถึงเวลานับถอยหลังอีก 4 ปี ต้อนรับฤดูกาลแห่งการแข่งขันโอลิมปิกอีกครั้ง ในปี ค.ศ.2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และวันนี้เราจะกล่าวถึงไฮไลต์ของการแข่งขันโอลิมปิกที่สำคัญและได้รับความสนใจอย่างมากอีกสิ่งหนึ่งคือตราสัญลักษณ์ประจำการแข่งขันของเจ้าภาพ ในการจัดการแข่งขันโอลิมปิกรอบถัดไปอย่าง ประเทศฝรั่งเศส ประเทศแห่งเสรีภาพและความยุติธรรม จะเป็นอย่างไรวันนี้จะพามาดูกันค่ะ

ความเป็นมาของตราสัญลักษณ์การแข่งขันโอลิมปิก เริ่มต้นได้อย่างไรกัน?
เมืองหลวงแห่งฝรั่งเศส Paris 2024 เจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 33 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม ค.ศ.2024 ได้เปิดเผยตราสัญลักษณ์ ‘ใบหน้าของหญิงสาว’ ประจำการแข่งขัน กับความหมาย ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ’ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพเขียน ‘La Liberté guidant le people เสรีภาพนำทางประชาชน’ เป็นภาพของสตรีเปลือยท่อนบนและมือข้างหนึ่งชูธงชาติฝรั่งเศส นามว่า มารีอานน์ (Marianne) โดยศิลปิน เออแฌน เดอลาครัว (Eugène Delacroix) แสดงถึงเหตุการณ์ที่ประชาชนต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเสมอภาค ในปี ค.ศ.1830 ‘ปฏิวัติเดือนกรกฎาคม’ จากการล้มล้างการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (พระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งฝรั่งเศส)

สัญลักษณ์ดังกล่าวยังเป็นสีทองอันแสดงถึงความมุ่งมั่น พากเพียร และความแข็งแกร่งของนักกีฬาและถ้ามองอีกมุมใบหน้าของหญิงสาวจะปรากฎเป็นรูปคบเพลิงอันแสดงถึงความกล้าหาญของมวลมนุษยชาติ ครบองค์ประกอบที่ต้องการสื่อผ่านสัญลักษณ์ความเสรีและความเสมอภาคในการเชื่อมต่อคนทั่วโลกเข้าด้วยกัน เดินหน้าพร้อมกันสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
ซึ่งในปีที่แล้วตราสัญลักษณ์อย่างโตเกียว 2020 คือสัญลักษณ์ ‘อิชิมัตสึ โมโย’ มีความหมายว่า ‘ความเป็นนิรันดร์’ เป็นการนำสี่เหลี่ยมมาเรียงต่อกันโดยไม่รู้จบตรงกับคอนเซปต์การลงมือทำเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเป็นสังคมสีเขียวนั่นเอง
ความหมายอันลึกซึ้งที่แฝงในตราสัญลักษณ์ของการแข่งขันที่เราจะได้พบเห็นตั้งแต่เริ่มต้นจนจบงานถือเป็นภาพรวมของคอนเซปต์ทั้งหมดที่เจ้าภาพในแต่ละประเทศต้องการจะสื่อจุดมุ่งหมายในงานมหกรรมกีฬาโลกโอลิมปิกเกมส์ นับวันรอความอลังการของประเทศเจ้าภาพอย่างฝรั่งเศสกัน ถือว่าเรียกฮือฮาได้อย่างมากกับพิธีเปิดในครั้งนี้ซึ่งจะจัดขึ้นบนแม่น้ำ Seine ที่ไหลผ่านใจกลางกรุงปารีสเป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร ผู้เข้าชมงานได้เฉลี่ย 6 แสนคนทั่วโลก เริ่มจากสะพาน Pont d’Austerlitz จนถึง Pont d’léna นับเป็นครั้งแรกที่ทุกคนสามารถดูพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกโดยไม่ต้องซื้อบัตรเข้าชมเสมอภาคดังคอนเซปต์ที่กล่าวไว้เลยค่ะ
ขอบคุณที่มาจาก : https://olympics.com/ioc และ https://www.blockdit.com/posts/610df71733555b0c9c7b71f3